ลวดลายน้ำหมึกผนึกลายคราม ความงดงามที่แฝงเร้นนัยยะความหมายทางการเมือง


ช่วงเทศกาลตรุษจีนในปีกระต่ายทองนี้ ขอแนะนำศิลปะจีนที่กำลังจัดแสดงในประเทศไทยทั้งผลงานของศิลปินจีนและศิลปินไทยที่ถ่ายทอดความเป็นจีนในแนวศิลปะร่วมสมัย แต่ยังคงมีกลิ่นอายของความเป็นศิลปะแบบประเพณีนิยมอยู่ โดยชิ้นแรกเป็นผลงานของ ฉิว ซื่อเจี๋ย (Qiu Zhijie) ศิลปินชาวจีนที่สนใจงานอักษรวิจิตรและจิตรกรรมพู่กันน้ำหมึก โดยในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติบางกอกอาร์ต เบียนนาเล่ 2022 เขาได้นำผลงาน “Map of Memory” มาจัดแสดง เพื่อถ่ายทอดแนวคิดของคู่ตรงกันข้ามระหว่าง “ความทรงจำ” กับ “การหลงลืม” ซึ่งใช้ภาพแผนที่เส้นทางการเดินเรือโดยสำเภาจีนเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงความแตกต่างให้ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว โดยท้าทายให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกเหมือนได้อ่านหนังสือที่จำแนกออกเป็นทั้งหมด 7 บทซึ่งรวมกันอยู่บนแผนที่แผ่นเดียว โดยอ่านจากซ้ายไปขวาเพื่อทำความเข้าใจจาก 3 บทแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “ความทรงจำ” ฉิว ซื่อเจี๋ยได้ใช้หลักการ “แผนภูมิความคิด” (Mind Map) ในการค้นคว้าหาถ้อยคำที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับความทรงจำเป็นทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่เป็นศัพท์เทคนิคในเชิงจิตวิทยา การศึกษา และรูปแบบการพัฒนาความจำของมนุษย์
สังเกตได้ว่ารูปทรงของหมู่เกาะที่ปรากฏอยู่บนแผนที่มีความคล้ายคลึงกับสมองและกะโหลกศีรษะของมนุษย์ ขณะที่ 3 บทหลังมีเนื้อหาเกี่ยวกับ “การหลงลืม” ที่นำเสนอถ้อยคำเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการลบเลือนความทรงจำของมนุษย์เช่นเดียวกับ 3 บทแรก แต่แตกต่างกันตรงที่ศิลปินนำเสนอมูลเหตุแห่งการลืมเลือนที่ยึดโยงกับสังคมและรูปแบบการเมืองการปกครองร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นลัทธิทำลายรูปเคารพ การล้างสมอง หรือแม้แต่การบิดเบือนประวัติศาสตร์ก็ตาม หากมองในภาพกว้างอาจมองเหมือนเป็นภาพจิตรกรรมพู่กันน้ำหมึกจีนขนาดใหญ่ เนื่องจากใช้โทนสีขาวดำเป็นหลัก ประกอบกับตราประทับอิ้นจางสีแดงอันเป็นวัฒนธรรมการชื่นชมงานศิลปะของชาวจีนสมัยก่อน เสมือนดัชนีชี้วัดคุณค่าและมูลค่าของงานจิตรกรรมจีนจากฐานันดรศักดิ์ของเจ้าของตราประทับ แต่หากมองให้ลึกซึ้งในรายละเอียดจะเห็นว่าผลงานดังกล่าวได้เสียดสีสังคมและการเมืองการปกครองของจีนที่เป็นระบอบคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมด้วย
ส่วนอีกผลงานเป็นของศิลปินไทย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ เป็นรถถังเซรามิคลวดลายครามที่ชื่อ “DRAGONERPANZER”จัดแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติบางกอกอาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ต่อมาได้พัฒนาให้มีขนาดเท่าของจริงจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย MOCA BANGKOK โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเครื่องลายครามของจีน ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นไทยมีการเจริญสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน มีการนำเครื่องลายครามเข้ามาในสยามเป็นจำนวนมาก จนวัฒนธรรมการตั้งเครื่องโต๊ะลายครามได้รับความนิยมในราชสำนัก มีการจัดประกวดแพร่หลายถึงขั้นออกพระราชบัญญัติข้อบังคับในการตัดสินเครื่องโต๊ะรัตนโกสินทร์ศก 119” ทั้งยังมีการตั้งชื่อถนนในกรุงเทพมหานครตามลวดลายของเครื่องลายครามอีกด้วย ได้แก่ ถนนพุดตาน ถนนเบญจมาศ ถนนฮก ลก ซิ่ว เป็นต้น แต่ที่หลงเหลือเป็นชื่อสะพานมาจนถึงปัจจุบัน คือ “สะพานซังฮี้” อันเป็นชื่อเครื่องถ้วยชามลายครามของจีน
ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิงเครื่องลายครามมีคุณค่าสูงจนสามารถแลกเปลี่ยนในเชิงมูลค่ากับกองทหารม้าของกษัตริย์ Friedrich August ผู้ครองนครแซกโซนีได้ สะท้อนให้เห็นถึงการประเมินค่าของงานศิลปะจากผู้คนสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งให้ค่ากับงานศิลปะมากกว่าการเมือง ในขณะที่ฝ่ายให้ความสำคัญกับอำนาจและเกียรติยศทางการเมืองมากกว่างานศิลปะ ศิลปินจึงเปลี่ยนจาก “ลายพราง” เป็น “ลายคราม” ผสมผสานความแตกต่างทางความคิดของคนสองกลุ่มรวมเข้าไว้ในผลงานเดียว โดยใช้รถถังเซรามิคเป็นสื่อกลางในการสื่อความหมาย “รถถัง” เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางการเมืองการปกครอง ขณะที่ลายครามสีขาวน้ำเงินเป็นสัญลักษณ์ของคุณค่าแห่งงานศิลปะแนวประเพณีนิยม สะท้อนให้เห็นถึงการทำหน้าที่ของศิลปะที่ไม่ได้ตอบสนองต่อสุนทรียภาพในการใช้ชีวิตของมนุษย์และความสวยงามแค่เพียงอย่างเดียว แต่ในบางครั้งศิลปะได้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเมืองการปกครองและทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ศิลปะแบบฟิวเจอร์ลิสม์ที่สนับสนุนลัทธิฟาสซิสต์ในอิตาลีอย่างชัดเจน