Alinea ร้านอาหารอวองการ์ดที่ให้มากกว่ารสชาติ และยังท้าทายความคิด

(ภาพจาก https://chicago.suntimes.com/columnists/2020/7/9/21319038/coronavirus-shaped-canape-alinea-steinberg)

ภาพของพายครีมคัสตาร์ดที่ถูกเสิร์ฟมาเป็นคานาเป้ (อาหารว่างคำเล็กๆ) กลายเป็นที่พูดถึงไปทั่วสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็ว เพราะคานาเป้ดังกล่าว ทำออกมาเป็นรูปเชื้อโรคโควิด-19 และเสริ์ฟให้กับลูกค้าในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดหนักทั่วโลกในปี 2020 แน่นอนว่าอาหารจานนี้ได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่ลบทันทีทันใด

“นี่มันเป็นการไม่เคารพคนที่เสียชีวิตเอามากๆ ผมไม่แคร์ว่าทางร้านคิดอย่างไร มันรับไม่ได้จริงๆ” นี่คือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อคานาเป้ชิ้นนั้น แต่เสียงวิจารณ์ที่ว่าไม่ได้ทำให้ร้าน Alinea เจ้าของเมนูดังกล่าวสะทกสะท้าน เพราะ Nick Kokonas ซีอีโอของร้านอาหารได้ออกมาตอบโต้ทันทีว่า “ศิลปะมักจะจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความไม่สบายใจ, บทสนทนา และความตระหนักรู้”

ใช่แล้ว ร้านอาหารเจ้าของมิชลินตาร์ 3 ดาว กลางเมืองชิคาโก้ มองว่าอาหารของร้านคืองานศิลปะ ไม่ต่างอะไรจากมูฟเมนต์ทางศิลปะแบบอาวองการ์ด (Avant-Garde) ที่เริ่มจากการสร้างข้อพิพาทครั้งใหญ่ในวงการศิลปะตะวันตกด้วยการจัดแสดงงานศิลปะที่ท้าทายขนบเดิมอย่าง Salon des Refusés ในปี 1863 ที่นำไปสู่การตั้งคำถามว่า “ศิลปะที่ดีคืออะไร”

(ภาพวาดของ Manet ที่ถูกจัดแสดงใน Salon des Refusés จาก https://thematter.co/thinkers/ugliness-in-art/54975)

ไม่แปลกเลยที่อาหารของ Alinea จะได้รับการขนานนามจากลูกค้าว่าเป็นร้านแนวอาวองการ์ด ถึงแม้ Grant Achatz เชฟและผู้ก่อตั้งร้านอาหารจะนิยามตัวเองว่าเป็น Progressive American Food มากกว่า ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแนวคิด อาหาร = ศิลปะ คือหัวใจหลักของ Alinea

(ภาพจาก https://www.alinearestaurant.com/gallery)

ศิลปะที่ว่านี้ไม่ใช่แค่การจัดวางอาหารลงบนจานอย่างประณีต หัวใจสำคัญของ Alinea ไม่ต่างอะไรกับศิลปะแบบอาวองการ์ด นั่นก็คือ “การท้าทายความคิด”

“ผมมองว่าอาหารของเราคือ Progressive American เราพยายามคิดแบบก้าวหน้า และใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มี เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ปลุกเร้าอารมณ์”

Grant Achatz เชฟผู้ก่อตั้ง Alinea

ศิลปะของอาหารของ Alinea ได้แรงบันดาลใจจาก “โรงละคร” อาหารของ Alinea จึงไม่ได้จำกัดเพียงรสชาติ แต่ยังรวมไปถึงประสาทสัมผัสทั้ง 5 รวมทั้งการกระตุ้นความคิดของลูกค้าผ่านเมนูอาหารต่างๆ ไม่ต่างอะไรกับการนั่งชมการแสดงในโรงละคร

(ภาพภายในร้านอาหาร Alinea จาก https://chicago.eater.com/2016/5/3/11578144/alinea-photos-price-redesign-renovation#0)

Alinea เคยตกแต่งร้านด้วยกองฟาง ใบต้นโอ๊คที่แห้งกรอบ และฟักทอง เพื่อสร้าง “กลิ่น” ให้ลูกค้ารู้สึกว่ากำลังนั่งอยู่ใน “ฟาร์ม” ไม่ใช่ร้านอาหาร

(ภาพจาก https://www.businessinsider.com/edible-balloon-alinea-restaurant-chicago-three-michelin-stars-2016-5)

นอกจากนี้เมนูขึ้นชื่อของ Alinea คือ “ลูกโป่งที่กินได้” แนวคิดของลูกโป่งดังกล่าวมาจากการที่ Grant Achatz อยากทำอาหารที่ลอยได้ เขาจึงทำลูกโป่งจากน้ำตาลผสมผลไม้และอัดก๊าซฮีเลียมเข้าไป ให้มันลอยได้จริงๆ และกิมมิคสำคัญของเมนูนี้คือ ลูกค้าจะต้องกัดลูกโป่ง พร้อมดูดก๊าซฮีเลียมเข้าไปด้วย และก๊าซฮีเลียมจะทำให้ลูกค้าเสียงแหลมเล็ก เหมือนเสียงมิกกี้ เมาส์ สร้างความสนุกสนานให้กับลูกค้าอย่างมาก

(ภาพจาก https://www.wbpstars.com/restaurant/alinea/)

ยิ่งกว่านั้น เมนูปิดท้ายคอร์สอาหาร เชฟจะนำลูกบอลช็อคโกแลตขนาดใหญ่มาเสิร์ฟ โดยเชฟจะทุ่มลูกบอลช็อคโกแลตลงไปบนพื้นโต๊ะ ทำให้ลูกบอลนั้นแตกเป็นชิ้นๆ ที่กลางโต๊ะ จากนั้นก็ราดช็อคโกแลต ลงไปบนโต๊ะเป็นการปิดท้าย เมนูนี้เกิดจากการตั้งคำถามว่า “ทำไมต้องกินอาหารในจานเพียงอย่างเดียว” Grant Achatz จึงตัดสินใจใช้พื้นโต๊ะเป็นจานเสียเลย และการเสิร์ฟแบบนี้ ยังช่วยให้ลูกค้าต้องแบ่งกันกินช็อคโกแลต เป็นการแหวกขนบการกินอาหารแบบ “จานใคร จานมัน” ของชาวตะวันตกอีกด้วย

(ภาพจาก https://blockclubchicago.org/2020/07/08/alinea-made-a-coronavirus-themed-dish-its-not-going-over-well/)

เช่นเดียวกับการเสิร์ฟคานาเป้รูปเชื้อโรคโควิด-19 ก็ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นลูกค้า ให้ตระหนักถึงสถานการณ์โรคระบาดในตอนนี้ เพราะ Alinea เชื่อว่าการรับประทานอาหารไม่ใช่การ “หนี” ไปอยู่อีกที่หนึ่ง แต่เป็นการ “มีส่วนร่วม” กับปัจจุบัน

สำหรับ Alinea อาหารเป็นมากกว่ารสชาติ อาหารคืองานศิลปะที่ปลุกเร้าอารมณ์และกระตุ้นความคิดของคน ไม่ต่างจากตอนที่มาร์แซล ดูชองป์นำ “โถฉี่” มาจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะ ในปี 1917 เพื่อกระตุ้นให้สังคมตั้งคำถามว่า “ศิลปะคืออะไร”

แล้วสำหรับคุณ “อาหารคืออะไร”

ธัญญานันต์ คูอนุพงศ์

Total
0
Shares
Prev
Hat Sai Ri at BACC

Hat Sai Ri at BACC

Bacc หรือ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า

Next
Marina Abramovic

Marina Abramovic

“Grandmother of Performance Art” คือ สมญานามของ “มารีนา อบราโมวิช” (Marina

You May Also Like